วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันแห่งความรักแล้ว ยังถือเป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์การศึกษาไทย และของชาวราชภัฏทั่วประเทศอีกด้วยอีกด้วย นั่นคือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ” แทน “วิทยาลัยครู”
ทั้งนี้ เนื่องมาจากวิทยาลัยครูทั่วประเทศ ซึ่งปฏิบัติภารกิจภายใต้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 ที่มีสาระสำคัญคือยกฐานะวิทยาลัยครูให้ผลิตครูได้ถึงชั้นปริญญา และ พรบ.วิทยาลัยครู ฉบับที่ 2 พ.ศ.2527 ที่มีสาระสำคัญคือกำหนดบทบาทให้วิทยาลัยครูจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองท้องถิ่น ทำให้วิทยาลัยครูทั้ง 36 แห่งได้มีการพัฒนารุดหน้าไปทุกๆด้าน จากเดิมที่เป็นเพียงการผลิตครูในระดับประกาศนียบัตร ก็ได้พัฒนาตนเองจนถึงขั้นผลิตครูระดับปริญญาบัณฑิต อันเป็นบุคคลระดับมันสมองของประเทศ แต่การพัฒนาก็มิได้หยุดยั้งเพียงเท่านั้น ระยะต่อมาได้พัฒนาถึงขั้นผลิตบัณฑิตสาขาวิชาต่างๆ ทั้งศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ได้เป็นผลสำเร็จ แต่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและค่านิยมที่ไม่ถูกต้องของสังคม สร้างปัญหาวิกฤตที่ไม่สามารถแก้ไขได้ตามลำพังให้เกิดขึ้นแก่วิทยาลัยครู ด้วยคนทั่วไปยังคงยึดติดว่าวิทยาลัยครูผลิตบัณฑิตเฉพาะสายครูเท่านั้น และเข้าใจผิดว่าบัณฑิตจากวิทยาลัยครูจะต้องประกอบวิชาชีพครูเพียงอย่างเดียว จุดนี้เองทำให้ผู้ที่จบการศึกษาในสายวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) และศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) ขาดโอกาสในการได้งานทำ ก่อให้เกิดความรู้สึกอัปยศ น้อยเนื้อต่ำใจ ทั้งนี้ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนของสังคมโดยแท้
กรมการฝึกหัดครู พยายามอย่างยิ่งที่จะหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้ เริ่มจากแนวคิดที่จะแก้ไขพรบ.วิทยาลัยครูทั้งสองฉบับ ในสอดคล้องกับสภาพจริงของวิทยาลัยครูในสมัยนั้น รวมถึงชื่อ “วิทยาลัยครู” ที่เป็นส่วนสำคัญของปัญหา ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาหลายครั้ง แต่ก็ประสบปัญหาครั้งแล้วครั้งเล่า หลายฝ่ายมองเห็นว่าเป็นทางตัน และเริ่มรู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจ กรมการฝึกหัดครูเล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ดำริที่จะขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง โดยขอพระราชทานนามใหม่แก่วิทยาลัยครู และเพื่อให้ได้ชื่อที่เหมาะสม จึงได้ระดมสมองคิดหาชื่อใหม่ที่ดีที่สุดส่งขึ้นไปเพื่อขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อขอให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นนามใหม่ของวิทยาลัยครูต่อไป
การสรรหาชื่อใหม่เป็นไปอย่างคึกคัก ในที่สุดคำว่า “สถาบันราชพัฒนา” เป็นคำที่ถูกใจคณะกรรมการมากที่สุด กรมการฝึกหัดครูจึงได้ทำหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของวิทยาลัยครู และขอพระราชทานนามใหม่ว่า สถาบันราชพัฒนา หรือชื่ออื่นใดสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ในที่สุด โดยที่มิได้คาดคิดมาก่อน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ” แก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 นับเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง
“ราชภัฏ” เป็นคำที่มิมีผู้ใดคาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นนามพระราชทาน เป็นคำศัพท์ที่ทรงใช้พระบรมราชวินิจฉัยและทรงสรรหาด้วยพระองค์เอง แสดงให้เห็นว่าทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการของวิทยาลัยครูอย่างแท้จริง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นหาที่สุดมิได้ “ราชภัฏ” เป็นศัพท์โบราณ มีความหมายตามพจนานุกรมว่า ข้าราชการ โดยนัยหมายถึงปราชญ์ของพระราชา เพราะผู้ที่จะสามารถรับใช้เบื้องพระยุคลบาท จะต้องเป็นผู้รอบรู้ มีสติปัญญาเฉียบแหลม นับได้ว่า “ราชภัฏ” นี้เป็นคำสูงส่ง เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สมควรจะเทิดไว้เหนือเกล้าและจงรักภักดีด้วยการตั้งปณิธานที่จะประพฤติ และปฏิบัติหน้าที่เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท สืบไป
...........................
บทความโดย...รวีโรจน์ สิงห์ลำพอง
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา